Archive

Archive for the ‘คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต’ Category

เบื้องลึกเบื้องหลัง LESS (ตอนที่ 2)

May 19, 2008 Leave a comment

    ข้อเสียของการอัพแบบเป็นตอนๆอย่างหนึ่งก็คือสำหรับคนที่ไม่ได้อ่านตอนแรกแล้วนั่น ก็คงจะไม่คิดอ่านตอนต่อไปเป็นแน่แท้ ที่รู้ก็เพราะว่าผมก็เป็นคนนึงเหมือนกันแหละ ที่ถ้าไม่ได้อ่านตอนแรกไปแล้วมันรู้สึกว่าจะไม่รู้เรื่องถ้ามาอ่านตอนสองเลย ดังนั้นสำหรับท่านที่เข้ามาอ่านแล้วเจอกับตอนสองนี้เลย แนะนำให้กลับไปอ่านตอนแรกก่อนครับ ไม่งั้นไปถึงตอนหลังๆคงจะไม่มีคนอ่านแล้วแหงๆ เวลาผมเขียนก็อยากจะให้มีคนอ่านบ้างแหละ ไม่ได้คิดเอาไว้ว่าว่างๆก็เลยเอามาลงเล่น ยังไงก็ลองอ่านตอนแรกก่อนนะคร้าบ (ไม่น่าสนใจแล้วค่อยข้ามตอน 2 นี้ไป)

     เนื่องด้วยก่อนอื่นต้องหาอ.ที่ปรึกษาก่อนล่ะ ผมกับเพื่อนก็นึกออกอยู่คนนึงเลยแหละ เพราะว่าตอนปี 1 ก็เรียนด้วยทั้งสองเทอม แถมมาเทอมนี้ก็ยังเจอตั้ง 2 วิชาอีก ดังนั้นอ.ที่ปรึกษาคงจะเป็นใครไปไม่ได้นอกซะจากอาจารย์ ว. (นามสมมติ หวังว่าอ.จะไม่ได้เข้ามาอ่านนะ – -) ตอนเย็นของวันหนึ่งผมก็เลยบุกไปหาซะเลย แต่เหมือนอ.จะรู้เรื่องนี้ดีอยู่เหมือนกัน เพราะมีเพื่อนผมอีกกลุ่มนึงก็คิดจะส่ง NSC เหมือนกันก็เลยมาให้อ.เป็นที่ปรึกษาไปเรียบร้อยแล้ว ก็เลยง่ายทางผมเลย อ.ก็ถามว่าส่งแค่ข้อเสนอก็ได้มาก่อนเลยใช่มั้ย 5000 บาท ผมเองก็ตอบไปว่าใช่ อ.ท่านก็เลยบอกว่างั้นก็น่าเขียนส่งไปก่อนอยู่ (แต่ถ้าเขียนข้อเสนอแล้วงานไม่เสร็จ เขาก็ยึดกะตังคืนนะครับผม = =") ก็เลยถามอ.ไปเกี่ยวกับพวกเทคนิคแล้วก็รายละเอียดการพัฒนาของโปรแกรมที่จะเขียนในข้อเสนอส่ง ซึ่งอ.ก็ออกตัวก่อนเลยว่ามันออกจะเข้าไปทางแถบๆ A.I (Artificial Intelligence) ซึ่งไม่ได้ถนัดเท่าไหร่เลย ส่วนผมก็คิดว่าก็ยังดีกว่าผมที่ไม่ได้ถนัดอะไรเลยนั้นแหละ เหอๆ

     หลังจากที่เขียนข้อเสนอเรียบร้อยแล้ว เรียบร้อยในความหมายที่ว่าแต่ละหัวข้อพอมีตัวหนังสือใส่เข้าไป ไม่ค่อยจะมีรายละเอียดอยู่ในแต่ละหัวข้อเท่าไรนัก ซึ่งเนื้อหาใจความที่พอจะจับประเด็นจากที่เขียนกันเองได้ก็คือ เราคิดที่จะพัฒนา Web service ที่จะรับเข้ามูลเข้ามาประโยคภาษาไทยและส่งข้อความกลับเป็นรูปแบบประโยคที่ถูกต้อง เช่นรับเข้ามาว่า "วานเน้ฝนตก" ก็จะส่งกลับให้เป็น "วันนี้ฝนตก" แล้วก็จะพัฒนาในส่วนของเว็บบอร์ดที่จะเรียก Web service ตัวนี้ ดังนั้นเว็บบอร์ดที่จะทำขึ้นมาเมื่อเวลามีคนโพสตอบ หรือตั้งกระทู้ข้อความที่รับเข้ามาก็จะถูกนำไปแก้ไขก่อน แล้วถึงจะแสดงผลในเว็บบอร์ดได้ โดยชื่อภาษาไทยที่พวกผมตั้งเอาไว้ก็คือ "ระบบกลั่นกรองข้อผิดพลาดในการใช้ภาษาไทย" แล้วก็มั่วชื่อภาษาอังกฤษไปว่า "Language Error Screen System" เพราะอยากจะทำให้ชื่อย่ออ่านได้แล้วก็มีความหมาย โดยหากเอาตัวแรกของแต่ละคำมารวมกันจะได้เป็นคำว่า LESS นั่นเอง แต่ด้วยความที่ไวยากรณ์ออกจะประหลาดและผิดเพี้ยนไปบ้างผมก็เลยถามอ.ว่าจะแก้เป็นอย่างไรดี ซึ่งในที่สุดก็เลยได้ชื่อภาษาอังกฤษที่ถูกต้องจริงๆซักทีเป็น "Linguistic – Erroneous Screening System" แล้วก็ได้คำย่อมาเป็นเหมือนเดิม ก็ข้อเสนอชุดแรกผมก็เขียนไปให้อ.ดูหลายครั้งแล้วก็เอากลับมาแก้อยู่หลายทีเหมือนกัน แต่พอเสร็จเรียบร้อยแล้วก็ให้อ.กับอ.หัวหน้าภาคเซ็นอีกนิดหน่อย เตรียมหลักฐานอื่นๆแล้วก็ส่งไปในทันใด

     เล็กน้อยเกี่ยวกับ Web service นะครับ ขออธิบายสำหรับคนที่ไม่รู้จัก (คงจะไม่เขียนอะไรที่เป็นศัพท์เทคนิคมาก) สำหรับเราๆท่านๆแล้วคงจะถนัดให้โปรแกรมต่างๆที่อยู่ในเครื่องกัน ซึ่ง Web service จริงๆแล้วก็เหมือนเป็นโปรแกรมตัวหนึ่งที่อยู่บนอินเตอร์เน็ท(service)นั่นเอง ซึ่งเราก็จะเรียกใช้ได้ก็ต่อเมื่อต่อเน็ทเท่านั้น ตัวอย่างง่ายๆก็อย่างเช่น Web service ที่ทำการแปลงค่าเงิน โดยการที่เราส่งจำนวนเงินในสกุลเงินสกุลหนึ่ง และสกุลเงินที่เราต้องการแปลงไป ตัว Service ก็จะส่งค่ากลับมาให้เป็น จำนวนเงินในสกุลที่เราต้องการแปลง ซึ่งแนวคิดนี้มีประโยชน์มากก็คือ การที่เราจะพัฒนาอะไรใหม่ๆนั่นเราไม่จำนวนต้องพัฒนาระบบทั้งหมด โดยบางส่วนอาจจะทำการเรียกใช้จาก Web service เอาก็ได้ ซึ่งโดยหากต้องการรายละเอียดมากกว่านี้ก็ที่นี่เลยครับ http://th.wikipedia.org/wiki/เว็บเซอร์วิส

     ส่งไปก็เรียบร้อยแล้วงั้นก็ว่างสิทีนี้ เหลือแค่รอว่าข้อเสนอจะผ่านหรือเปล่าถ้าผ่านก็ได้ตังมาก่อนเลย 5000 บาท ซึ่งระหว่างที่รอแประกาศผลข้อเสนอที่ผ่านผมก็ไม่ค่อยได้ทำอะไรจริงจังเท่าไหร่เลย วันๆก็ได้แต่นั่งเปิดข้อมูลว่ามันทำยังไง ลองเล่นนู้นเล่นนี่ดู โดยไม่มีอะไรออกมาเป็นชิ้นเป็นอัน ก็ตามภาษาแหละครับ มันยังไม่จวนตัวนี่นา มันก็เลยยังไม่มีไฟที่จะทำ พอถึงวันประกาศจริง (ซึ่งรู้สึกว่ามันจะเลยจากกำหนดการเดิมไปหลายอาทิตย์อยู่เหมือนกัน) ผมก็เปิดดูผ่านเว็บนั่นแหละ ซึ่งก็ผ่านตามที่คาดไว้ เพราะยุ้ยมันบอกแต่แรกแล้วว่าข้อเสนอส่วนใหญ่ก็ผ่านกันหมด แล้วก็น่าจะมีของธรรมศาสตร์ผ่านมาอีก 5 กลุ่มล่ะมั้ง ถ้าผมจำไม่ผิดนะ แล้วทาง SIIT ซึ่งเป็นผู้ประสานงานภาคกลางก็ส่งเมล์มาที่ผม ใจความประมาณว่า จะมีพิธีมอบทุนวันที่ 29 ตุลาที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) เหมือนกับจะให้มาเพื่อที่ทำสัญญาทำพิธีมอบทุน บลาๆๆ ด้วย แต่ไม่รู้ด้วยเหตุบังเอิญอันใดวันที่ 29 ผมมีสอบปลายภาคตอนเช้า 9.00 – 12.00 นี่สิ อะไรจะเหมาะเจาะเยี่ยงนี้

     ก็ยังโอเคผมกะว่าสอบ 3 ชม.ประมาณชั่วโมงครึ่งก็น่าจะทำ(หรือมั่ว)เสร็จแล้วแหละ ก็เลยเตรียมเอกสารที่จะต้องไปยื่นวันรับทุนให้เรียบร้อย แล้วก็ตกลงกับเพื่อนไว้ก่อนเลยว่ารีบทำข้อสอบออกมากันล่ะ แล้วก็จะได้ชิ่งไปเลย ไม่งั้นเดี่ยวมันจะไม่ทัน พอถึงวันสอบจริง ก็รีบเข้าไปมั่วโดยไวแล้วก็ออกมาก่อนเลย ประมาณชั่วโมงตามทีกะไว้พอดี แต่เพื่อนผมมันยังไม่เสร็จนี่สิ ผมเลยนั่งรออยู่นอกห้องสอบ พอดีว่าอ.ที่คุมสอบวิชานั้นก็คืออ.ที่ปรึกษาโครงงานผมเอง แล้วอ.แกที่เพิ่งเดินออกไปไหนก็ไม่ทราบได้ก็กำลังจะกลับไปคุมสอบต่อ แต่ดันเจอผมนั่งอยู่นอกห้องซะก่อน อ.ก็เลยถามผมประมาณว่า

     อ. : ข้อสอบง่ายล่ะสิ
     ผม : ยิ้มๆแต่ไม่ตอบอะไรไป (ในใจ : ไม่จริงมั้งครับ -*-)
     อ. : วันนี้ต้องไปที่ตลาดหลักทรัพย์ใช่มั้ย
     ผม : ใช่ครับ
     อ. : แล้วจะไปยังไงล่ะ?
     ผม : ยังไม่แน่ใจเหมือนกันครับ เดี๋ยวรอถามเพื่อนอีกทีนึง (จริงๆกะว่าแท็กซี่เลยมั้ย เดี่ยวจะไม่ทัน)
     อ. : งั้นเดี๋ยวครูถามเพื่อนให้เพราะเพื่อนครูทำงานอยู่ที่นั่น

     แล้วอ.ก็หยิบโทรศัพท์โทรถามให้ในทันใด โดยมีคำตอบเป็นเนื้อความว่า นั่งรถไฟใต้ดินไปจะง่ายสุดเพราะขึ้นจากสถานีก็จะเจอเลย ผมก็เลยว่าเอาวิธีนี้แหละนั่งรถตู้ไปจตุจักรแล้วก็ต่อรถไฟใต้ดินเลย แล้วก็ก่อนที่อ.จะเดินเข้าไปคุมสอบต่อก็ยังบอกผมอีกว่า"แล้วอย่าลืมทำส่งด้วยล่ะ เดี๋ยวเขายึดเงินคืน" เหอๆผมก็กลัวเหมือนกันครับ แล้วก็สักพักเพื่อนผมก็ออกมาจากห้องสอบ แล้วก็ไปนั่งรถตู้กัน ระหว่างทางที่ไปจตุจักรก็ดูถนนปลอดโปร่งดีไม่ติดขัดเท่าไหร่ แต่มันดันไปเติมก๊าซ NGV นี่สิ ต่อคิวไปเกือบครึ่งชม. เติมอีกเกือบ 10 นาทีได้ = ="

     จนแล้วจนรอดก็ถึงจนได้ เขาให้หัวหน้าทีมไปนั่งที่ห้องประชุมอะไรซักอย่างนี่แหละ ส่วนเพื่อนผมอีก 2 คนก็ไปนั่งอีกห้องนึงที่มีทีวีถ่ายทอดสดไปจากห้องประชุม แล้วพิธีก็เริ่มต้นขึ้นโดยมีพิธีกรกล่าวเปิดไปซักพักแล้วก็เชิญอ.จาก SIIT มาเป็นผู้มอบเงินทุน (ไม่ใช่เงินรางวัลครับ เพราะยังไม่ได้ทำอะไรเลย) ระหว่างที่เรียกแต่ละคนไปรับ ก็มีโครงงานของเด็กมัธยม่ะมั้งครับ ชื่อประมาณว่า "จัดงานศพ ออนไลน์" อะไรซักอย่างนี่แหละ ฟังแล้วแบบว่ามันมีทำทุกอย่างเลยใช่มั้ยเนี่ย พอรับกันหมดเรียบร้อยแล้วเขาก็เชิญอ.มาพูดเกี่ยวกับงานครั้งนี้ ซึ่งเขาก็บอกว่า โครงงานปีนี้มีความน่าสนใจดี แล้วเขาก็อยากจะฝากผู้พัฒนาไว้หน่อยว่า อยากให้พัฒนาแบบที่ว่าสามารถทำต่อยอดขึ้นไปได้ แล้วก็พยายามทำพวกเอกสารต่างๆ เพื่อที่จะได้พัฒนาต่อได้ง่ายขึ้น อะไรประมาณนี้ แล้วก็เชิญรัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์ขึ้นมาพูดต่อ

     แล้วก็หลังจากเสร็จพิธีซึ่งผมรู้สึกว่าไม่ค่อยมีอะไรเท่าไหร่เลย ดีตรงที่ได้ฟังคนอื่นพูดหน่อยนึง แล้วก็ตอนออกมาที่ของว่างให้กินนี่แหละ รู้งี้ไม่รีบมาก็ได้ ที่สำคัญคือเอกสารที่เตรียมไว้ก่อนหน้านี้ก็ยังยื่นไม่ได้อยู่ดี ต้องไปเขียนอันนู้นอันนี้เพิ่มแล้วก็ส่งไปรษณีย์ไปทีหลัง สรุปแล้วตอนนี้ก็เหลือเวลาอีก 2 เดือนที่จะทำแล้วก็ส่งไป ส่วนจะเป็นอย่างไรติดตามต่อตอนหน้าครับ (อยากบอกว่าตอนหน้าเร็วๆนี้เหมือนกัน แต่กลัวจะดองอีก เหอะๆ)

เบื้องลึกเบื้องหลัง LESS (ตอนที่ 1)

April 29, 2008 3 comments
     ประหลาดใจตัวเองเหมือนกันที่จู่ๆวันนี้เกิดอยากมาอัพ space ซะงั้น จริงๆแล้วผมเขียน blog ไว้ที่ exteen ด้วยน่ะ (http://remixman.exteen.com) แล้วก็มี space ของที่นี่อีก แล้วก็มีความคิดที่จะอัพมานานแล้วเหมือนกัน เผอิญว่ามีแต่ความคิด ไม่ได้มาอัพจริงซะทีนี่สิ วันนี้ด้วยความว่างยามปิดเทอมก็เลยขอถือโอกาสนี้มาอัพหน่อยและกัน กลัวว่าไม่ได้เขียนอะไรนานๆ เดี๋ยวความคิดจะฝืดซะหมด
 
     วันนี้ผมก็จะมาเล่าความเป็นไปเป็นมาของ LESS ก็แล้วกัน (หัวข้อที่เพิ่งอัพไปก่อนหน้านี้นั่นแลหะครับ) ก่อนอื่นถ้าถามว่ามันคืออะไร ผมก็คงต้องตอบอย่างง่ายๆไปก่อน มันคือโครงงานซอร์ฟแวร์ที่ผมส่งประกวดโครงการ NSC2008 (National Solfware Contest) มีชื่อภาษาไทยที่โก้เก๋ว่า "โครงการแข่งขันพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย" ซึ่งมีจัดขึ้นในทุกๆปี และมีการแข่งขันแบ่งออกเป็นหลายประเภท
 
     จริงๆแล้วตอนที่ผมเข้ามาเรียนปี 1 ใหม่ๆ เพื่อนผมคนนึง (ไอยุ้ยนั่นเอง สำหรับคนรู้จักครับ) ซึ่งเคยเข้าประกวดงานนี้ตอนที่อยู่มัธยมก็เล่าให้ผมฟังขึ้นมาว่า มันมีจัดประกวดโปรแกรมทุกปี เงินรางวัลก็ใช่ย่อยขนาดแค่ผ่านเข้ารอบแรกๆยังได้ตั้ง 15,000 เลย ด้วยความเห็นแก่เงินเป็นที่ตั้งของผมก็เลยเริ่มสนใจงานนี้ขึ้นมา แต่ว่าช่วงนั้นผมเองยังอยู่ปี 1 แล้วก็ถึงจะบอกว่าเงินรางวัลน่าสนใจก็เถอะ แต่ผมก็ยังเขียนโปรแกรมได้อยู่นิดเดียวแหละ จะให้เอาไปแข่งคงจะทำไม่ได้ ที่สำคัญก็ยังคิดไม่ออกอยู่ดีว่าถ้าจะทำจะทำอะไร
 
     จนกระทั่งเวลาล่วงเลยมาถึง 1 ปีกับอีก 2 เดือน 4 วัน ผมก็เป็นนักศึกษาปี 2 เต็มตัวและหัวใจ (ยกเว้นสติปัญญา) ช่วงนั้นก็คิดว่าตัวเองพอจะทำงานใหญ่ได้บ้างแล้วล่ะมั้ง เพราะเทอม 2 ของปี 1 ก็เขียนโปรแกรมใหญ่ๆอยู่เหมือนกัน ถึงจะเป็นโปรแกรมใหญ่เมื่อเทียบกับโปรแกรมเล็กๆที่เขียนอยู่ทุกวันเท่านั้นก็เถอะ ด้วยความฮึกเหิมบวกความมั่นใจในตัวเองอีกนิดหน่อย ผมเลยตัวสินใจเรียกเพื่อนผมมาค้างที่บ้านแล้วก็ช่วยกันคิดโครงงานพร้อมกับพิมพ์ข้อเสนอเบื้องต้นในวันที่ 3 สิงหา 2550 (ปีที่แล้ว)
 
     เพื่อความสะดวกในการอ่านมากขึ้นผมขอเพิ่มตัวละครหน่อยและกัน ก็คือเพื่อนผมที่เคยเข้าแข่งขันมาก่อนตอนอยู่มัธยม ให้นามสมมติว่า "ยุ้ย" ส่วนเพื่อนที่อีกคนที่มาค้างด้วยชื่อว่า "โพด"
 
     ผมไม่ค่อยแน่ใจว่าวันนั้นเป็นช่วงไหนของการเรียน แต่คิดว่าน่าจะเป็นช่วงเปิดเทอมมาไม่นานล่ะมั้ง เริ่มด้วยเพื่อนผมทั้งสองคนนี้คือ ยุ้ย ซึ่งมีศักดิ์นำหน้าว่า ไอ้ และ โพด ซึ่งมีศักดิ์นำหน้าว่า ไอ้ เช่นกัน = =" มาค้างที่บ้านผมในคืนวันศุกร์และเสาร์ เพื่อหวังที่จะคิดโครงงานแล้วก็เขียนข้อเสนอโครงการส่งซะที เริ่มต้นก่อนที่จะคิดข้อเสนอพวกเราก็นั่งดูหัวข้อการแข่งขันต่างๆก่อน เผื่อที่จะได้กำหนดโครงงานที่จะทำถูก แต่เมื่ออ่านไปได้ซักพักไม่ว่าหัวข้อไหนก็ไม่เห็นวี่แววว่าจะทำอะไรได้เลย ความคิดในช่วงนั้นยังคง "มืด 80 ด้าน"
 
     จริงๆแล้วผมก็เริ่มตัวหัวข้อที่ไม่คิดจะเลือกออกๆไปบ้างแล้วล่ะ ซึ่งเท่าที่ผมเล็งๆเอาไว้ (แต่ยังไม่ยิง) ก็คือหัวข้อของ Web service, Mobile Application, Open Source Application Extension แต่ก็อย่างว่าแหละ แต่ล่ะอันมันคืออะไรผมก็ยังไม่ค่อยรู้เลยด้วยซ้ำ แต่ด้วยความโลภที่อยากได้กะตัง ก็เลยอยากที่จะทำตามไปด้วย ระหว่างที่กำลังความคิดมืดบอด ตื้อตัน ไม่เห็นทางออกนั้น ผมก็เลยตัดสินใจไปกินข้าวก่อนดีกว่า ซึ่งระหว่างกินข้าวก็เปิดทีวีดูข่าวไปด้วย แล้วก็เจอกับข่าวที่ดังที่สุดช่วงนั้น มันคือ "แอ๊บแบ๊ว" เถียงกันแทบเป็นแทบตายว่าต้นตอมันมาจากไหน ซึ่งข่าวกำลังดังมากที่ว่านายกถึงขนาดไปถามผู้เชี่ยวชาญมา ผมว่าไอที่ว่า แบ๊วมาจากบ๊องแบ๊วก็น่าจะใช่อยู่หรอก แต่แอ๊บที่ว่ามาจาก abnormal ผมว่ามันไม่ใช่นา กลับมาประเด็นเดิมก่อนครับ ผมว่าไอเรื่องศัพท์ใหม่เนี่ยมันก็ยังโอเคนะ แต่ปัญหาที่ใกล้เคียงกันอีกอันก็คือภาษาวิบัตนี่สิ ก็เป็นประเด็นอยู่เหมือนกัน พอหลังจากกินข้าวเสร็จผมก็เลยตัดสินใจประชุมเพลิงอีกครั้งที่ห้องของผม
 
     ผมกะว่าจะเอาหัวเรื่องนี้แหละดีที่สุดแล้ว ระบบที่สามารถแก้คำภาษาวิบัตให้เป็นคำที่ถูกต้องได้ โดยทำเป็น Web service ซึ่งอีก 2 หน่อก็เห็นชอบแต่โดยดี ในความคิดของผมแล้ว ผมแบ่งคนเป็น 3 ประเภทนะ คนประเภทแรกคือคนธรรมดาที่จะปล่อยให้ตัวเองพัดพาโดยกระแสลม ลอยตามลมไปเรื่อยๆ เขาไปทางไหนกันเราก็ไปกับเขามั่ง ส่วนคนประเภทที่สองผมให้ชื่อว่าคนเหนือคน คือคนที่สามารถต้านกระแสลมไปได้ถึงลมจะพัดแรงแค่ไหนก็ไม่ปล่อยตัวให้ไปตามลม ถ้าไม่ใช่ทางที่ถูกต้อง ซึ่งผมเคยคิดว่าคนประเภทที่แหละยอดเยี่ยมที่สุด แต่ผมก็กลับค้นพบคนประเภทที่สามคือสุดยอดคน ไม่ใช่ถูกพัดโดยลมเรื่อยไป ไม่ต้องฟ่าสายลมได้เสมอ แต่กลมกลืนไปกับธรรมชาติ หากว่าลมพัดไปทางไหนก็ใช้ลมให้เป็นประโยชน์กับตนเอง ใช้ประโยชน์จากธรรมชาติให้มากที่สุด เอ๊ะ! เอ็งจะเขียนโปรแกรมแล้วเกี่ยวอะไรกับประเภทคนเล่า? เปล่าครับผม เจตนาผมไม่ได้คิดที่จะสาธยายความให้มันคล้ายหนังจีน แต่ผมอยากจะเปรียบเทียบว่าในตอนนั้นผมคิดว่าโครงงานที่ตัวเองคิดนั้น เป็นโครงงานที่เหมือนกันคนประเภทที่สามนั่นเอง คือใช้กระแสให้เป็นประโยชน์ ซึ่งผมมั่นใจในไอเดียนี้ทีเดียว (แต่ไม่มั่นใจว่าเขียนออกมาเป็นยังไง – -)
 
 

     แน่นอนว่าหัวข้อโครงงานก็มีแล้ว งั้นก็เริ่มพิมพ์ข้อเสนอเบื้องตนเลยสิ แต่อะไรๆก็ไม่เป็นใจขนาดนั้น ข้อเสนอที่คิดว่าง่ายดาย ก็กลับยากขึ้นเมื่อเปิดผ่านหัวข้อที่ต้องเขียน เทคนิดหรือเทคโนโลยีที่ใช้! เครื่องมือที่ใช้พัฒนา! ขอบเขตการพัฒนา! บลาๆๆ จะเขียนอะไรเนี่ย ยังไม่มีในหัวซักอย่าง มีแต่ชื่อโครงการกับรายละเอียดข่าวๆเท่านั้นเอง  อ.ที่ปรึกษา!! จะหาจากไหนล่ะ ผมเลยตัดสินใจเขียนในหัวข้อที่เขียนได้ก่อน แล้วก็กะว่าจะหาอ.ที่ปรึกษาแล้วก็คงจะถามอ.น่ะแหละครับ ว่ารายละเอียดต่างๆจะเขียนแล้วก็จะทำไงดี

     ยังไม่จบครับแต่กลัวคนอ่านจะเบื่อกันซะก่อนเลยขอพักไว้แค่นี้ก่อนแล้วกัน ไว้ต่อตอนหน้าครับผม (หุหุ มีเรื่องอัพแล้ว)